อาชีวะพรีเมียม วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง
อาชีวะพรีเมียม วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่
สาขาระบบขนส่งทางราง
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดหลักสูตร “อาชีวะพรีเมียม” ใน 6 สาขาวิชา ที่จับคู่สอนกับวิทยาลัยต่างประเทศทั้ง
จีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน เริ่มภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จบแล้วได้รับวุฒิ 2 ประเทศ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแนวทางปฏิรูปอาชีวศึกษา
เพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรือ “อาชีวะพรีเมียม” โดยจะนำร่องเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับวิทยาลัยอาชีวะ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนและมาตรฐานเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ที่สำคัญสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาต้องเข้าไปเรียนได้จริง ในสถานที่จริง กับเครื่องมือจริง และอุปกรณ์จริง ไม่ใช่เป็นความร่วมมือทางวิชาการหรือการส่งบุคลากรมาสอนในวิทยาลัยอาชีวะเท่านั้น อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมจะเข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรร่วมกัน มีกระบวนการสอนและการประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้ได้เด็กตรงใจ มีคุณภาพตามที่ต้องการ ล่าสุด ได้มีการประชุมโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรือ “อาชีวะพรีเมียม” ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จะเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม จำนวนทั้งสิ้น 6 สาขาวิชา โดย 5 สาขาเปิดใน 19 วิทยาลัย ดังนี้
1. สาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) บ้านไผ่, วิทยาลัยเทคนิค (วท.) สุราษฎร์ธานี, วท.วาปีปทุม และ วท.ชลบุรี โดยมีกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัย และวิทยาลัยอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
2. สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 2 ปีครึ่ง เปิดสอนใน 2 วิทยาลัย ได้แก่ วท.พระนครศรีอยุธยา และ วท.มีนบุรี จับคู่
ความร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย สาธารณรัฐประชาชนจีน, นอกจากนี้ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จะจับคู่กับ วท.สุรนารี สอนสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และจับคู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ชลบุรี สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตร ปวส. เรียน 5 ปีต่อเนื่อง รับเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 3. สาขาช่างอากาศยาน หลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 2 ปี อิงมาตรฐานสากลองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) สอนใน 6 วิทยาลัย ได้แก่ วท.ถลาง, วท.สัตหีบ, วท.ดอนเมือง, วท.สมุทรปราการ, วท.อุบลราชธานี และ วท.ขอนแก่น จับคู่ความร่วมมือกับ สถาบันการบินพลเรือน และสถานประกอบการในประเทศ
4. สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม หลักสูตร ปวส. เรียน 2 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วท.สมุทรสงคราม, วท.สมุทรสาคร, วท.สระบุรี และ วท.สุพรรณบุรี จับคู่
ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันจะดำเนินการคัดเลือกมหาวิทยาลัยให้ 5. สาขาโลจิสติกส์ เปิดสอนระดับ ปวส. เรียน 2 ปีครึ่ง สอนใน 1 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
จับคู่ ความร่วมมือกับ Chongqing City Management College: CCMC สาธารณรัฐประชาชนจีน 6. สาขาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่ง
ผู้จบการศึกษาหลักสูตร “อาชีวะพรีเมียม” จะได้รับทวิวุฒิ (Dual Degree) หรือ 2 วุฒิจาก 2 ประเทศ คือ วุฒิการศึกษาจากประเทศไทยและจากวิทยาลัยที่มาจับคู่ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน ซึ่งนักศึกษาที่จบออกมาแล้วสามารถทำงานได้จริง และเป็นผู้เรียนที่มีแนวคิดพัฒนาต่อได้ด้วย มีทักษะการปฏิบัติแบบมืออาชีพ เป็นนานาชาติ ตอบโจทย์ตลาดได้ “หลังจากนี้ ทุกวิทยาลัยจะเร่งจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอหลักสูตรที่ปรับปรุงให้ที่ประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พิจารณารับรอง โดย สอศ. จะเตรียมจัดทำของบประมาณรายจ่ายเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งยืนยันว่าทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2561 เดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน” นพ.อุดม กล่าว
Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
28/2/2561
ขอบคุณข้อมูลและกราฟิกต้นฉบับ: สอศ และ http://www.moe.go.th/websm/2018/1/058.html